การแข่งขันในอุตสาหกรรมกล้องถ่ายรูปในยุคดิจิตอล
อุตสาหกรรมกล้องถ่ายรูปนับว่าเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาก โดยมีการผลัดกันเป็นผู้นำในตลาดโลก จากเดิมอังกฤษและเยอรมนีนับเป็นประเทศแนวหน้าของโลก แต่ได้ถูกญี่ปุ่นแซงหน้าในช่วงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัจจุบันเมื่อก้าวสู่โลกดิจิตอล สถานการณ์การแข่งขันได้ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น เมื่อบรรดายักษ์ใหญ่ในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ได้เข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์
เดิมในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษนับเป็นผู้นำของโลกในธุรกิจกล้องถ่ายรูป แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 บริษัทเยอรมนีได้ก้าวแซงหน้าอังกฤษขึ้นเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะกล้องถ่ายรูปยี่ห้อ Leica ของเยอรมนี นับว่ามีชื่อเสียงไปทั่วโลกในช่วงนั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกล้องถ่ายรูปเป็นอย่างมาก เนื่องจากโรงงานจำนวนมากตั้งอยู่ในเขตเยอรมนีตะวันออก ซึ่งถูกสหภาพโซเวียดยึดครอง ขณะเดียวกันฝ่ายสัมพันธมิตรได้ประกาศว่าบรรดาสิทธิบัตรต่างๆ ของบริษัทเยอรมนีถือว่าสิ้นสุดลง รวมถึงสิทธิบัตรในด้านกล้องถ่ายรูปด้วย ทำให้บริษัทต่างประเทศสามารถผลิตสินค้าลอกเลียนแบบได้ง่ายยิ่งขึ้น
ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งพ่ายแพ้สงครามโลกเช่นเดียวกัน แต่สามารถพลิกจากวิกฤตเป็นโอกาสจนกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกล้องถ่ายรูปในเวลาต่อมา โดยเฉพาะบริษัท Nippon Kogaku KK (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทนิคอน) ซึ่งเดิมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ผลิตอุปกรณ์ในราชการทหารจำนวนมาก เป็นต้นว่า กล้องส่องทางไกล กล้องตรวจหาวิถีกระสุนหรือสำหรับเล็งในการทิ้งระเบิด กล้องใช้ในเรือดำน้ำ ฯลฯ
เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม 2488 ทำให้อุปสงค์จากราชการทหารก็หมดลงตามไปด้วย ดังนั้น ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินจนเกือบล้มละลาย บริษัทนิคอนได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ได้ตัดสินใจแสวงหาธุรกิจใหม่ คือ กล้องถ่ายรูป โดยเริ่มทำการวิจัยและพัฒนาโดยออกแบบในลักษณะลอกเลียนแบบกล้องถ่ายรูปยี่ห้อดัง คือ Leica และ Contax โดยผลิตกล้องถ่ายรูปยี่ห้อนิคอนและเลนส์ยี่ห้อ Nikkor
ในช่วงแรกชื่อเสียงของกล้องถ่ายรูปยี่ห้อนิคอนจำกัดอยู่ในญี่ปุ่นเท่านั้น และสถานการณ์ได้พลิกผันทำให้มีชื่อเสียงก้องโลกอย่างบังเอิญ โดยในปี 2493 นาย Duncan ซึ่งเป็นเหยี่ยวข่าวมีชื่อเสียงมากของโลกโดยทำงานให้กับนิตยสาร Life ได้เดินทางมาทำข่าวในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งช่างภาพญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ทำงานกับนิตยสาร Life ได้ถ่ายภาพนาย Duncan เอาไว้ โดยแม้ถ่ายภาพโดยใช้ตัวกล้องยี่ห้ออื่น แต่ใช้เลนส์ยี่ห้อ Nikkor ของบริษัทแคนนอน ส่งผลให้ภาพนั้นกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่อุตสาหกรรมกล้องถ่ายรูปญี่ปุ่น
เมื่อช่างภาพญี่ปุ่นนำฟิล์มมาขยายเป็นภาพขนาดใหญ่เพื่อส่งมอบเป็นที่ระลึกให้แก่นาย Duncan เขาต้องตกใจมากที่ภาพคมชัดมาก ดังนั้น เขาจึงเดินทางไปยังบริษัทนิคอนเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทแห่งนี้ ผู้อำนวยการของบริษัทนิคอน คือ ดร. Masao Nagaoka ได้มาต้อนรับและให้ข้อมูลต่างๆ และก่อนที่นาย Duncan จะจากไป ก็ได้เปลี่ยนเลนส์ Nikkor ให้แก่กล้องยี่ห้อ Leica ของนาย Duncan
ภายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังจากที่นาย Duncan เปลี่ยนเลนส์มาเป็นยี่ห้อ Nikkor ก็เกิดสงครามเกาหลีขึ้น นาย Duncan ได้เดินทางไปยังสมรภูมิพร้อมถ่ายภาพกลับมาลงในนิตยสาร Life ซึ่งภาพคมชัดมาก โดยแสดงให้เห็นถึงใบหน้าและอารมณ์ของทหารที่อยู่ในภาวะสงคราม นับว่าแตกต่างจากเดิมซึ่งภาพข่าวจะจืดชืดไม่มีชีวิตชีวา ทำให้เกิดการเล่าปากต่อปากในหมู่นักข่าวในสงครามเกาหลีถึงความเยี่ยมยอดของเลนส์ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น ทำให้บรรดาช่างภาพเหล่านี้พากันเปลี่ยนไปใช้เลนส์ยี่ห้อ Nikkor หรีอบางคนถึงกับเปลี่ยนทั้งตัวกล้องและเลนส์เป็นยี่ห้อนิคอนและ Nikkor ตามลำดับ
ต่อมาได้มีการตีพิมพ์ถ่ายถ่ายของนาย Duncan ลงในหนังสือพิมพ์ New York Times ซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดในสหรัฐฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2493 บทความนี้ยังได้พ่วงเอาเรื่องราวความยอดเยี่ยมของเลนส์ถ่ายรูป Nikkor เข้าไปด้วย ทำให้ทั้งกล้องและเลนส์ของบริษัทนิคอนได้รับความนิยมพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วไปยังหมู่ประชาชนในสหรัฐฯ จากเดิมที่มีชื่อเสียงจำกัดเฉพาะในกลุ่มช่างภาพหนังสือพิมพ์และนิตยสารเท่านั้น
สำหรับเทคโนโลยีสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเอาชนะในอุตสาหกรรมกล้องถ่ายรูปอย่างเด็ดขาด คือ คือ Single Len Reflex (SLR) ซึ่งเลนส์ถ่ายภาพจะเป็นเลนส์เดียวกับเลนซ์ที่ผู้ถ่ายรูปมอง ทำให้กล้องแบบ SLR มีข้อได้เปรียบมากมายกว่ากล้องถ่ายรูปแบบเดิม ซึ่งว่าไปแล้วหลักการพื้นฐานของ SLR ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งใหม่ ได้รู้จักกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยเป็นเทคนิคง่ายๆ เพื่อให้ภาพด้านนอกของห้องปรากฏขึ้นบนผนังภายในของห้อง ซึ่งบรรดาจิตรกรนิยมนำเทคนิคนี้มาใช้เพื่อให้การสเกตช์ภาพแม่นยำยิ่งขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น กล้องถ่ายรูปตัวแรกขนาด 35 มม. ที่ใช้เทคโนโลยี SLR ก็ไม่ได้ผลิตในญี่ปุ่นแต่อย่างใด แต่ผลิตในสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2478 อย่างไรก็ตาม บริษัทแคนนอนได้นำนวตกรรม SLR มาใช้แพร่หลายในกล้องรุ่น AE-1 จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก จากความยอดเยี่ยมของอุปกรณ์ถ่ายภาพของญี่ปุ่นนี่เอง ทำให้องค์การอากาศยานและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ของสหรัฐฯ ถึงกับเลือกกล้องถ่ายรูปญี่ปุ่นเพื่อใช้โครงการอะพอลโลซึ่งเป็นการสำรวจดวงจันทร์
ภายหลังจากญี่ปุ่นครองอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมกล้องถ่ายรูปมาเป็นเวลายาวนาน ก็มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีครั้งใหญ่ไปสู่ยุคดิจิตอล โดยบริษัทแรกที่พัฒนากล้องดิจิตอลเป็นผลสำเร็จเมื่อปี 2518 คือ บริษัทโกดัก แต่ไม่พยายามทำการผลิตในเชิงพาณิชย์อย่างจริงๆ จังๆ แต่อย่างใด
การผลิตกล้องดิจิตอลเชิงพาณิชย์ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2531 เมื่อบริษัทคู่แข่งที่อุตสาหกรรมฟิล์มถ่ายรูป คือ บริษัทฟูจิ ได้เปิดตัวต้นแบบกล้องดิจิตอลและได้เริ่มวางจำหน่ายกล้องถ่ายรูปแบบนี้ในช่วง 3 ปีต่อมาโดยใช้ชื่อรุ่น DSP-100
แม้ในช่วงนั้นหลายบริษัทจะวางจำหน่ายกล้องดิจิตอล แต่มีราคาสูงมาก ทำให้มียอดจำหน่ายน้อยมาก โดยกล้องดิจิตอลเริ่มมียอดจำหน่ายจำนวนมากภายหลังจากบริษัทคาสิโอได้วางจำหน่ายกล้องดิจิตอลราคาถูกขนาดความคมชัด 250,000 พิกเซล เมื่อเดือนมีนาคม 2538
จากนั้นยอดจำหน่ายกล้องดิจิตอลก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเพิ่มจาก 11 ล้านตัวในปี 2543 เป็น 18.5 ล้านตัว ในปี 2544 และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 24.6 ล้านตัว ในปี 2545 โดยในปี 2545 นับเป็นครั้งแรกที่ปริมาณจำนวนกล้องดิจิตอลมีจำนวนมากกว่ากล้องแบบใช้ฟิล์มเป็นครั้งแรก จากนั้นในปี 2547 ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านตัว และในปี 2548 คาดว่าตลาดกล้องดิจิตอลจะมีจำนวนมากถึง 80 ล้านตัว
สำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ก็เข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์ด้วย แต่เนื่องจากบริษัทเหล่านี้แม้จะมีความเชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังมีจุดอ่อนในด้านเลน ดังนั้น จึงจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทผลิตเลนส์ของเยอรมนี โดยบริษัทมัตสุชิตะซึ่งผลิตกล้องยี่ห้อพานาโซนิคได้ประกาศร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท Leica Camera ของเยอรมนีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2544 ขณะที่บริษัทโซนี่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท Carl Zeiss ของเยอรมนีเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันมี 2 บริษัท ซึ่งเป็นเจ้าตลาดในธุรกิจกล้องดิจิตอล คือ โซนี่และแคนนอน โดยมีส่วนแบ่งตลาดโลกพอๆ กัน คือ 20% สำหรับบริษัทที่มียอดจำหน่ายรองลงมา คือ โอลิมปัส โกดัก และฟูจิ ตามลำดับ
สำหรับผู้ผลิตกล้องดิจิตอลรายใหญ่ของโลกนั้น เดิมเป็นบริษัทซันโย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมากเนื่องจากยอดจำหน่ายกล้องดิจิตอลยี่ห้อซันโยมีจำนวนไม่มากนัก แต่การที่มีปริมาณการผลิตจำนวนมากเนื่องจากบริษัทซันโยรับจ้างผลิตในลักษณะ OEM ให้แก่หลายยี่ห้อ เช่น โอลิมปัส นิคอน มินอลต้า ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ในปี 2548 ปริมาณการรับจ้างผลิตของบริษัทซันโยลดลง ส่งผลให้บริษัทโซนี่และบริษัทแคนนอนแซงขึ้นเป็นอันดับ 1 และ 2 ขณะที่บริษัทซันโยร่วงลงมาเป็นอันดับ 3
สุดท้ายนี้ แม้ธุรกิจกล้องถ่ายรูปดิจิตอลเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ทิศทางในอนาคตไม่สดในนัก เนื่องจากเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ประการแรก ตลาดกล้องถ่ายรูประบบดิจิตอลเริ่มอิ่มตัว ยอดจำหน่ายในอนาคตคาดว่าจะเติบโตในอัตราต่ำ
ประการที่สอง การแข่งขันมีแนวโน้มทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น กลายฝ่ายเกรงว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเหมือนกับกรณีเครื่องเล่น CD และ DVD ซึ่งแม้ในระยะแรกผู้ผลิตเครื่องเล่น CD และ DVD จะมีกำไรจำนวนมาก โดยตั้งราคาขายระดับสูง แต่ในช่วงต่อมากำไรลดต่ำมากจนแทบไม่คุ้มทุน เนื่องจากมีผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยเข้ามาร่วมแข่งขันจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ผลิตจีนและไต้หวันซึ่งผลิตสินค้าดีราคาถูก
ประการที่สาม โทรศัพท์มือถือที่ติดกล้องได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว .ซึ่งปัจจุบันสามารถถ่ายรูปได้คมชัดขึ้นใกล้เคียงกับกล้องดิจิตอล ดังนั้น จะกระทบต่อยอดจำหน่ายกล้องดิจิตอลราคาถูกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Post a Comment